Tuesday, September 15, 2009

Self esteem

ทบทวนเอกสาร "การสร้าง Self-esteem ให้กับเด็กและเยาวชน"

 
 


คำจำกัดความ และลักษณะของ Self-esteem

·       Self-Esteem คือ ความภาคภูมิใจในตนเอง ซึ่งหมายถึง ความรู้สึกที่บุคคลมีต่อตนเองในทางที่ดี มีความเคารพและยอมรับตนเองว่ามีความสำคัญ มีความสามารถและใช้ความสามารถที่มีอยู่กระทำสิ่งต่างๆให้ประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมาย ยอมรับนับถือตนเอง มีความเชื่อมั่นในตนเอง เคารพในตนและผู้อื่น และมีชีวิตอยู่อย่างมีเป้าหมาย 

ความภาคภูมิใจในตนเองนั้น พิจารณาได้จากการเปรียบเทียบตนที่แท้จริง (Self-concept) กับตนในอุดมคติ (Ideal self) โดยคนที่มองเห็นตนเองในอุดมคติขัดแย้งกับตนเองตามความเป็นจริง จะมีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ (Low self-esteem) และคนที่มีความคิดเห็นตรงกันกับตนในอุดมคติ จะเป็นคนที่มีความภาคภูมิใจในตนเองสูง

          Self-concept           Ideal-self                       Self-concept       Ideal-self

                                                                                           

 

                                                      

 

                                                                                                                                  

                   Low self-esteem                                           High self-esteem

                บุคคลจะรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองได้ก็ต่อเมื่อยอมรับตนเองได้ โดยที่การรับรู้ของบุคคลตามที่เขา  รับรู้สอดคล้องกับตนในอุดมคติหรือตามที่ตนเองคาดหวัง ทั้งในด้านความรู้สึก เจตคติ ความเชื่อใน         เอกลักษณ์และคุณค่า ความศรัทธาในตนเอง รวมทั้งการรับรู้สัมพันธภาพของตนเองกับบุคคลอื่น ถ้าบุคคลใดคิดว่าตนเองตามความเป็นจริงเท่าเทียมหรือใกล้เคียงกับตนเองในอุดมคติมากเพียงใด บุคคลก็จะมีความภาคภูมิใจในตนเองมากขึ้น หรือกล่าวได้ว่าความภาคภูมิใจในตนเองเป็นผลต่างของความคลาดเคลื่อนของตัวตนที่แท้จริงและตัวตนที่อยากจะเป็น นอกจากนี้เหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของบุคคลก็มีผลต่อความภาคภูมิใจในตนเองของบุคคลด้วย กล่าวคือ ถ้าสถานการณ์เป็นไปในด้านดีมีความสำเร็จในสิ่งที่กระทำความภาคภูมิใจในตนเองก็เพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้ามการประสบความล้มเหลวก็จะ    ทำให้บุคคลรู้สึกว่าตนไม่มีความสามารถ ไร้ประโยชน์ ความภาคภูมิใจในตนเองย่อมลดลง

บุคคลที่มีความภาคภูมิใจในตนเองสูง (High self-esteem) มีการรับรู้ "ตน"ตามความเป็นจริง มีบุคลิกภาพที่ดี เป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในความคิดของตนเอง สามารถให้เหตุผลในสิ่งที่ตนเองกระทำได้กระจ่างชัด มั่นใจในการกระทำ หรือการตัดสินของตน กล้าคิด กล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม มีความคิดสร้างสรรค์ มุ่งการทำงานให้ประสบผลสำเร็จ มีความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและผู้อื่น มั่นคงทางจิตใจ มองโลกในแง่ดี           มีสัมพันธภาพที่ดีต่อบุคคลอื่น ดังนั้น บุคคลที่มีความภาคภูมิใจในตนเองสูงจึงใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข      มีความวิตกกังวลน้อย มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในการดำรงชีวิต จะมีระบบภูมิคุ้มกันทาง           จิตวิญญาณให้บุคคลเผชิญกับปัญหา และมีพลังในการขจัดสิ่งเลวร้ายในชีวิตออกไป

ปัจจัยที่จะช่วยให้บุคคลมีความภาคภูมิใจในตนเองนั้น ได้แก่โอกาสที่บุคคลนั้นจะได้ใช้พลังความสามารถที่มีอยู่ในตนเองในการคุ้มครองดูแลตนเองหรือมีโอกาสได้เกื้อกูลผู้อื่น ได้รับการให้ความสำคัญ ได้รับความเชื่อถือศรัทธาและประสบความสำเร็จในสิ่งที่มุ่งหวัง (อาจารย์สุพัตรา ทาวงศ์ : ศูนย์ให้คำปรึกษากลุ่มงานพัฒนานักศึกษา)

·       จากบทความ The Six Pillars of Self-Esteem ซึ่งแต่งโดย Nathaniel Brandon ว่าด้วยเรื่องการสร้างความนับถือตนเองหรือ Self-esteem ซึ่งจะแตกต่างกับคำว่า ความเชื่อมั่นในตนเอง หรือ Self confidence ตรงที่ว่า ความเชื่อมั่นในตนเองเป็นเรื่องของความกล้าที่จะตัดสินใจในการกระทำสิ่งต่าง ๆ    ในชีวิต แต่ Self-esteem หรือความนับถือในตนเองนั้นคือความเชื่อว่าตนเองมีความสามารถที่จะเผชิญโลกได้ในทุกสถานการณ์ และรู้ซึ้งดีว่าตนเองนั้นมีคุณค่าและเป็นคนดีมีความมั่นคงภายในจิตใจโดยชาว      ตะวันตกมีสมมติฐานที่ว่า หากคนเราขาดความนับถือตนเอง หรือ Self-esteem แล้วนั้น จะทำให้                                          1)ยากที่จะมีความสุขเพราะจะเป็นคนจับจดทำอะไรก็ไม่สำเร็จ                                                                          2)ยากที่จะเป็นคนดีเพราะเมื่อไม่สามารถเคารพตนเองได้ก็ยากที่จะเคารพผู้อื่นเช่นกัน

3)ยากที่จะประสบความสำเร็จเพราะเมื่อไม่มีจุดยืนในตนเอง จึงไม่สามารถแสดงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ใด ๆ ออกมาได้โดยไม่หวั่นไหวต่อเสียงวิพากวิจารณ์จากคนรอบข้าง

·       Self-esteem หมายถึง การรู้สึกถึงคุณค่าในตนเอง ซึ่งคนที่มี Self-esteem จะต้องมีความสมดุลของความต้องการผลสำเร็จ ความมีเกียรติ และความซื่อสัตย์ ซึ่งหมายถึงจิตใต้สำนึกและพฤติกรรมนั่นเอง จิตใต้สำนึกของคนที่มี Self-esteem จะต้องรู้บาปบุญคุณโทษ รู้สิ่งใดดีสิ่งใดไม่ดี ส่วนพฤติกรรมของ Self-esteem มีความสามารถที่จะคิดแก้ปัญหา เชื่อมั่นในความคิดและความสามารถของตนเอง สามารถเลือก   วิธีการตัดสินใจที่ถูกต้อง หากสูญเสียความสมดุลก็จะทำให้เกิดปัญหา เช่น หากจิตใต้สำนึกไม่แข็งแรงหรือ         ไม่สมบูรณ์พอที่จะทำให้เกิดพฤติกรรมเชื่อมั่นตนเองมากเกินไป หยิ่งยโส   ดูถูกคนอื่น แต่หากมีจิตสำนึก   ที่ดีแต่ไม่มีความมุ่งมั่นที่จะประสบผลสำเร็จ ชีวิตก็อาจจะไม่ถึงเป้าหมาย ดังนั้นบุคคลที่ชอบพูดถึงแต่ตัวเอง โอ้อวด ดูถูกคนอื่น ชอบเอาเปรียบคนอื่น ไม่ถือว่ามี Self-esteem (สำนักสุขภาพจิตสังคม กรมสุขภาพจิต)

·       Self-esteem หมายถึง การตระหนักรู้อย่างแน่ชัดว่าตนสามารถทำได้สำเร็จ และเป็นที่ยอมรับ       เป็นความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณค่าของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่การไปเที่ยวอวดตัวว่าฉันเก่งในเรื่องไหนบ้าง หรือคิดว่าฉันเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ เพราะในความเป็นจริงไม่มีใครสมบูรณ์แบบ แต่เป็นความรู้สึกภายในจริงๆว่า "ฉันเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่าในแบบของฉัน ซึ่งสมควรจะเป็นที่รัก และยอมรับของคนอื่น" ซึ่งคนที่มีความสุขจริงๆจะต้องได้รับการพัฒนา Self-esteem มาตั้งแต่เด็กๆ โดยการสะสมความรู้สึกว่า "ฉันเป็นที่รักของผู้อื่น"          ซึ่งนั่นหมายถึง "ฉันมีคุณค่าเพียงพอที่จะถูกรัก" และสะสมความสำเร็จเล็กๆน้อยๆมาโดยสม่ำเสมอ           ซึ่งนั่นหมายถึงความรู้สึกมั่นใจว่า "ฉันสามารถประสบความสำเร็จได้" เด็กจึงจะเชื่อว่าเขาทำได้ และสิ่งที่  เขาทำเป็นสิ่งที่คนอื่นยอมรับ โดยเฉพาะคนในครอบครัวซึ่งเป็นคนที่เขารักที่สุด สำคัญที่สุด และรับรู้ว่า   ตนเองเป็นที่รักและได้รับการยอมรับ ดังนั้นSelf-esteemจึงเป็นฐานแห่งความสุขในชีวิตของมนุษย์                        (เกียรติยง ประวีณวรกุล นักจิตวิทยาคลินิก)

·       Maslow ได้กล่าวเอาไว้ว่า ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองเป็นความรู้สึกของบุคคลที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีความเข้มแข็ง มีสมรรถภาพในการกะทำสิ่งต่างๆ มีความเชี่ยวชาญและ         มีความสามารถ ซึ่งประกอบไปด้วย สองส่วนคือ

1)            ความรู้สึกนับถือตนเอง (Self-respect) เป็นทัศนของบุคคลที่มีต่อตนเอง มีความเคารพ ยอมรับในตนเองว่ามีความสำคัญ มีความสามารถที่จะกระทำสิ่งต่างๆ ได้แก่การมองเห็นคุณค่าในตนเอง การเป็นคนเข้มแข็งมั่นคง มีความสามารถ มีความชื่นชมตนเอง มีความเชื่อมั่น พึ่งตนเองได้และมีความเป็นอิสระ

2)            ความรู้สึกว่าคุณค่าที่บุคคลอื่นมีต่อตน (Esteem from others) ซึ่งเห็นได้จากการมีเกียรติ มีชื่อเสียง มีตำแหน่ง มีอำนาจ มีความรุ่งเรือง ได้รับการยอมรับ ความเอาใจใส่ ให้มีความสำคัญ มีศักดิ์ศรี และเป็นที่ยกย่องของสังคม

·             Coopersmith นักวิจัยเกี่ยวกับการมองเห็นคุณค่าในตนเอง ได้ให้ความหมายเอาไว้ว่า ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองเป็นการตัดสินใจความมีคุณค่าของตนเอง ซึ่งแสดงถึงทัศนคติที่บุคคลมีต่อตนเอง เป็นการยอมรับหรือไม่ยอมรับของตนเอง และแสดงถึงขอบเขตของความเชื่อที่บุคคลมีต่อความสามารถ ความสำคัญ ความสำเร็จ และความมีค่าของตน

·             ชัยวัฒน์ วงษ์อาษา ได้ให้ความหมายไว้ว่า ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองคือการที่บุคคล มีความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเอง ซึ่งพิจารณาจากการประเมินคุณค่าตนเองในด้านความสามารถความชำนาญ ความสำคัญ ความสำเร็จ และความมีคุณค่าของตนเอง รวมทั้งการสามารถยอมรับการเห็นคุณค่าในตนเองที่ผู้อื่น   มีต่อตน  มีความเชื่อมั่นในตนเอง และมีความนับถือตนเอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับอัตมโนทัศน์ของแต่ละบุคคล

·       Self-esteem หมายถึง ความภาคภูมิใจในตนเอง เป็น"ความเชื่อหรือความรู้สึกที่มีต่อตัวเอง             ซึ่งมีอิทธิพลต่อพฤติกรรม เจตคติ และแรงจูงใจในการดำเนินชีวิต" ซึ่งการจะก่อให้เกิดความภูมิใจในตนเองนั้น จะต้องสะสมความรู้สึกทีละเล็กทีละน้อยตั้งแต่เด็ก เพราะเราไม่สามารถสร้างความรู้สึกนั้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งการสะสมความรู้สึกต่อตัวเองนั้นจะเริ่มตั้งแต่อายุขอบปีแรก เด็กจะเริ่มสะสมความรู้สึกว่า "ตัวเองทำได้" โดยที่เขาไม่รู้ตัว จากนั้นเขาจะเริ่มพัฒนาจริงจังเมื่ออายุ 3-4 ปี เขาจะเริ่มรับรู้ความรู้สึกชนิดต่างๆ  สำรวจความคิดนั้น และสะสมความคิดจนได้ข้อสรุปตกผลึกออกมาเป็นความรู้สึกโดยรวมต่อตนเอง นอกจากนี้ความภูมิใจในตนเองจะต้องเกิดควบคู่ไปกับความรัก เนื่องจากถ้าเด็กที่มีความภาคภูมิใจในตนเอง สามารถทำสิ่งต่างๆได้ประสบความสำเร็จแต่ขาดความรัก ในที่สุดเขาก็จะหมดความภาคภูมิใจในตัวเอง ส่วนเด็กที่ได้รับความรักแต่ไม่ภูมิใจในตัวเอง ทำอะไรไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ก็จะไม่รักตัวเอง ดังนั้นความภาคภูมิใจและความรักจึงต้องมีอยู่ด้วยกันอย่างสมดุล (แหล่งข้อมูลจากโรงเรียนวัฒนาสาธิต)

·       Self-esteem คือ การนับถือตัวเอง ซึ่งหมายถึง ความรู้สึก ความเชื่อที่บุคคลมีต่อตนเองว่ามีความสามารถมีคุณค่า ซึ่งจะมีระดับตั้งแต่ การนับถือตนเอง ต่ำไปจนถึง การนับถือตนเองสูง การที่บุคคลยอมรับตนเอง นับเป็นทักษะสำคัญในการที่จะเรียนรู้พัฒนาตนเอง และการดำเนินชีวิต เพราะความสามารถในการรักษาสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ได้ดี มีผลมาจาก การที่บุคคลยอมรับ หรือปฏิเสธตนเอง และจะเป็นสิ่งที่ใช้ทำนายสัมพันธภาพ ที่บุคคลอื่นมีต่อเราได้เช่นกัน ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้ จะเป็นผลมาจากการพัฒนาการ   นับถือตนเองของบุคคลนั่นเอง จากงานวิจัย (Harris : 1990) พบว่าคนที่มีระดับการนับถือตนเองต่ำ        (Low self-esteem) จะมีปัญหาด้านอารมณ์มากกว่า คนที่มีการนับถือตนเองสูง (High self-esteem) และการนับถือตนเอง จะเกิดขึ้นได้ง่าย เมื่อบุคคลเปรียบเทียบตนเองกับบุคคลอื่น และบางครั้งบุคคลที่นับถือตนเองต่ำ จะแสดงจุดเด่นเฉพาะบางอย่าง เช่น (การแต่งกาย, การแสดงความคิดเห็น, การเล่นกีฬา) เพื่อเป็นการ   ชดเชย แต่บุคคลเหล่านี้ก็ไม่สามารถลดความรู้สึกพร่องใน การนับถือตนเอง หรือความภาคภูมิใจในตนเอง แม้จะพยายามสร้างจุดเด่นให้ตนเองแล้วก็ตาม แต่ในทางกลับกัน บุคคลที่มีการนับถือตนเองสูง (High self-esteem) จะสามารถมีความสุขและพึงพอใจในชีวิต เพราะเขาจะมีแรงจูงใจในการดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จ ที่มีผลมาจากความปรารถนาที่จะทำให้เป้าหมายในชีวิตหรือการทำงานบรรลุผล ไม่ใช่จาก    แรงจูงใจที่จะชดเชยความรู้สึกที่ตนเองไม่ภาคภูมิใจในตนเอง

·       ความภาคภูมิใจในตนเอง (Self-esteem) เป็นสภาวะที่ก่อให้เกิดความเข้มแข็งของจิตใจและความโดดเด่นในการดำเนินชีวิตอันมีพื้นฐานของสุขภาพจิตที่ดี นำมาสู่ความสำเร็จต่าง ๆ ได้ง่าย หากจะมี IQ คือ ความฉลาดของสติปัญญาและมี EQ คือ ความฉลาดทางอารมณ์ รวมทั้ง MQ คือ ความฉลาดทางด้าน        จริยธรรมอยู่ในตัวผู้นั้นอย่างเหมาะสม ซึ่งความภูมิใจในตนเองนับว่ามีความสำคัญยิ่งที่จะทำให้บุคคลประสบความสำเร็จในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก ความภูมิใจในตนเองจัดว่ามีผลอย่างสำคัญต่อทุกช่วงชีวิตของเด็ก เด็กที่มีความภูมิใจในตนเองต่ำ นับว่ามีความพิการทางบุคลิกภาพไม่แพ้เด็กที่มีความพิการทางร่างกาย เพราะเด็กที่มีความภูมิใจในตนเองต่ำ จะประสบความล้มเหลวในชีวิตทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเรียน ด้านมนุษยสัมพันธ์ รวมทั้งทางด้านที่จะก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทั้งปวง ความภูมิใจในตนเองเป็นเสมือนแรงบันดาลช่วยให้ความปรารถนาใด ๆ บรรลุจุดหมายปลายทางตามที่พึงประสงค์ ขณะเดียวกันเด็กที่มีความภูมิใจในตัวเองก็จะมีความนับถือตนเอง พึงพอใจกับตนเอง และภาคภูมิใจต่อตนเองและเพศของตนเองด้วย ความภูมิใจในตนเองจะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง ซึ่งจะเกิดขึ้นในโอกาส   ต่อไปนี้
เมื่อรู้สึกว่าตนมีความสำคัญต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่มีความสำคัญต่อตน
เมื่อมีความรู้สึกว่าตนมีความดีเด่นเป็นพิเศษ ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่า อะไรมาทำให้มีความรู้สึกเช่นนั้น
เมื่อมีความรู้สึกว่าตนมีความดีเด่นเหนือผู้ใด สามารถกระทำสิ่งที่ต้องการได้สำเร็จ มีความรู้สึกเชื่อมั่นว่า สามารถจัดการกับทุกสิ่งที่ต้องการกระทำได้สำเร็จ
เมื่อมีความรู้สึกว่าสามารถกระทำได้อย่างมีจุดมุ่งหมาย ซึ่งแสดงให้เห็นความเชื่อและค่านิยมของตนเอง   ความภูมิใจในตนเองหรือความนับถือตนเองจึงเป็นความรู้สึกในด้านบวก ซึ่งเป็นแรงเสริมของความรู้สึกที่ดี ความนับถือตนเองเป็นความรู้สึกที่แสดงออกเมื่อบุคคลกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ดังนั้น ความนับถือตนเองซึ่งเกิดขึ้นในเด็ก จึงสามารถสังเกตเห็นได้เมื่อเด็กกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำสิ่งนั้นด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง (แหล่งข้อมูลจาก http://korat.nfe.go.th)

 

วิธีการเสริมสร้างและการพัฒนา Self-esteem

·       ในช่วงอายุ 1-6 ขวบแรกของชีวิต ถือเป็นช่วงวัยที่สำคัญมากที่สุดในการวางพื้นฐานเรื่องพฤติกรรมและบุคลิกภาพของคนเรา ดังนั้นจึงถือเป็นวัยที่เหมาะสมที่จะช่วยเสริมและสร้างให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเองได้โดยมีวิธีการดังนี้
1.ให้ความรักและให้เวลา
ผู้ปกครอง ครู และบุคคลที่ใกล้ชิดกับเด็กควรแสดงความรักกับเด็กด้วยคำพูดที่ดีและการสัมผัสที่อบอุ่น เพราะเด็กๆจะสามารถรับรู้ถึงความรู้สึกเหล่านี้ได้ รวมไปถึงการให้เวลากับเด็กในการรับรู้ รับฟังสิ่งที่เด็กพูดและแสดงออก พยายามหากิจกรรมทำร่วมกัน เช่น เล่นเกมทายปัญหาด้วยกัน เล่านิทานให้เด็กฟัง ทำอาหารด้วยกัน ไปเล่นกีฬาด้วยกัน ไปเที่ยวด้วยกัน และโดยเฉพาะผู้ที่เป็นพ่อแม่นั้น การที่ครอบครัวได้ใช้เวลาด้วยกันจะเป็นการช่วยเสริมสร้างความภาคภูมิใจในตนเองให้เกิดขึ้นกับเด็กได้ดี เพราะทำให้เขามีความสุข รู้สึกมั่นคงปลอดภัยและเกิดความมั่นใจในตนเอง
2.ค้นพบจุดเด่น

ควรสังเกตว่าเด็กมีจุดเด่นอะไร ซึ่งการสังเกตทำได้ง่ายๆคือดูว่าเด็กมีความสุขในการทำกิจกรรมใดบ้าง เช่น ดนตรี ศิลปะ กีฬา อ่านหนังสือ เมื่อค้นพบว่าเด็กชอบทำกิจกรรมใดเป็นพิเศษแล้ว ก็ควรสนับสนุนให้เขาได้ทำกิจกรรมนั้นให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ถ้าเด็กชอบเล่นฟุตบอล ก็พาเขาไปเข้าค่ายฝึกฟุตบอลกับเด็กๆในวัยเดียวกันช่วงปิดเทอม ถ้าเด็กชอบอ่านหนังสือ วันหยุดก็พาเขาไปร้านหนังสือให้เขาได้เลือกหนังสือดีๆที่เหมาะสมกับเขาไว้อ่าน เหล่านี้ถือเป็นการสนับสนุนให้เด็กได้พัฒนาความสามารถของตนเองในสิ่งที่เขาชอบ ซึ่งเป็นการเสริมสร้างให้เด็กมีอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ให้เขาเกิดความภูมิใจในความสามารถตนเอง ถือเป็นการสร้างเสริมความภาคภูมิใจในตนเองให้กับเด็กได้ดีอีกวิธีหนึ่ง    

                                                                   

3.สนับสนุนให้คบเพื่อนที่ดี
การให้เด็กได้เข้าสังคมกับเพื่อนฝูงในวัยเดียวกัน จะช่วยให้เขาเป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ได้เรียนรู้การ     อยู่ร่วมกับผู้อื่น เรียนรู้ในการปรับตัวให้เป็นที่ยอมรับจากผู้อื่นและในทำนองเดียวกันเขาจะได้เรียนรู้ที่จะยอมรับผู้อื่นด้วย อีกทั้งเป็นการฝึกให้ลูกรู้จักบทบาทในการเป็นผู้นำผู้ตาม ซึ่งจะช่วยให้เขาเป็นคนปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ง่ายสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขโดยไม่รู้สึกมีปมด้อย
4.สอนให้ทำในสิ่งที่ดี
การฝึกให้เด็กเป็นคนรักในการทำความดี เช่น ให้มีความเสียสละ มีน้ำใจ รู้จักช่วยเหลือแบ่งปันผู้อื่นอยู่เสมอ จะทำให้เขาเป็นคนไม่เห็นแก่ตัว ไม่แล้งน้ำใจ วิธีที่ได้ผลที่สุดในการฝึกให้เด็กทำในสิ่งที่ดีคือผู้ปกครองและผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดกับเด็กจะต้องปฏิบัติตนให้เด็กเห็นเป็นตัวอย่าง แล้วเขาจะซึมซับพฤติกรรมที่ดีเหล่านี้เข้าไปจนกลายไปเป็นนิสัยของเขาเอง นอกจากนี้ผู้ปกครองต้องคอยสอนเด็กว่า หากเด็กทำในสิ่งที่ไม่ดีแล้ว คงไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วย หรืออาจเป็นที่รังเกียจของผู้อื่นได้ การสนับสนุนให้เด็กทำในสิ่งที่ดีถือเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการเสริมสร้างให้เด็กมีความภาคภูมิใจในตนเอง เพราะหากเขาทำตัวไม่ดี เขาจะถูกมองว่าเป็นที่รังเกียจของสังคม และส่งผลให้เขาเป็นคนมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อคนอื่นและมองเห็นแต่ข้อด้อยของ   ตนเอง ซึ่งจะทำให้เขากลายเป็นคนที่มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำได้ในที่สุด

(แหล่งข้อมูลจาก ดร.แพง ชินพงศ์)

 

·       แนวทางทางปฏิบัติที่จะช่วยให้เด็กหรือวัยรุ่นมีความภาคภูมิใจในตนเอง                                             ในความเป็นจริงแล้ว  พ่อ แม่ ผู้ปกครองและครูอาจมีวิธีการช่วยเหลือเด็กๆ ได้อีกหลายๆ วิธี ด้วยการนำ  แนวทางปฏิบัติเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้แล้วแต่สถานการณ์

1.การให้เด็กมีส่วนรับผิดชอบ เปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมแสดงความรับผิดชอบในงานหรือกิจกรรมต่างๆของโรงเรียนหรือที่บ้านตามความสามารถ วุฒิภาวะของเด็กแต่ละวัย และอย่างค่อยเป็นค่อยไป

กรณีตัวอย่าง :  เด็กหญิงสมศรี นักเรียนชั้นประถมปีที่6 เป็นเด็กที่มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ แสดงออกในลักษณะชอบควบคุมและจัดการคนอื่นๆ ครูได้จัดให้เด็กหญิงสมศรีไปช่วยสอนเด็กชั้นประถมปีที่1      และ2 และรายงานผลการสอนของตนเอง ผลการเรียนรู้ของเด็กให้คุณครูทราบ โดยเด็กหญิงสมศรีสามารถตั้งคำถาม และตัดสินใจได้อย่างเต็มที่ ขณะที่สอนเด็กชั้นเล็กกว่าดังกล่าว หลังจากนั้นเด็กหญิงสมศรีมี    ความสุขมาก เป็นที่ยอมรับและได้ฝึกฝนความรับผิดชอบ

2.ฝึกการตัดสินใจ จัดสถานการณ์ให้เด็กเหล่านี้มีโอกาสฝึกการตัดสินใจเลือกวิธีการแก้ปัญหาด้วยตนเอง ตามความสามารถ วุฒิภาวะในแต่ละวัยและตามความสนใจของเด็กแต่ละคน

กรณีตัวอย่าง : เด็กชายบิ๊ก นักเรียนชั้นประถมปีที่2 มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ แสดงออกแบบหลีกเลี่ยงในเรื่องการเขียน ถ้าเขียนแล้วไม่สวย ไม่อยากเขียน ครูได้ให้ข้อเสนอแก่เด็กชายบิ๊ก ว่าสามารถที่จะหยุดเรียนในชั่วโมงเรียนได้1ครั้ง ช่วงไหนก็ได้ในทุกสัปดาห์ ถ้าเด็กชายบิ๊ก สามารถเขียนอะไรได้ในชั่วโมงการเขียนอื่นๆ เมื่อบิ๊กได้เลือกเริ่มเขียนหนังสือได้ในเวลาต่อมา

3.ให้กำลังใจ เมื่อเด็กได้ทำกิจกรรม หรือผ่านความยุ่งยากใจได้ ควรให้กำลังใจที่เด็กสามารถทำได้ตลอดโดยไม่หยุดเสียกลางคัน และช่วยค้นหาการเรียนรู้จากประสบการณ์นั้น ร่วมกับเด็กไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะจบด้วยความสำเร็จหรือล้มเหลว

กรณีตัวอย่าง : เด็กชายเปรมอายุ 5ปี มีความเข้าใจว่า พ่อโกรธและผิดหวังในการสอบของตนเองที่ผ่านมา    ผู้ให้คำปรึกษาแนะนำให้พ่อเด็กชายเปรมจัดเวลาช่วงหนึ่งในสัปดาห์ ประมาณ 15-30นาที ใช้เวลาอยู่กับเด็กชายเปรม ทำกิจกรรมร่วมกัน โดยพ่อของเด็กชายเปรมเลือกเวลาตอนเช้า กินอาหารเช้าด้วยกันนอกบ้านก่อนไปโรงเรียน หลังจากนั้นสัมพันธภาพระหว่างเด็กชายเปรมและพ่อก็ดีขึ้น

4.การสร้างวินัยในตนเอง ฝึกการสร้างวินัยในตนเอง ให้เด็กผ่านงานที่ต้องรับผิดชอบ โดยจัดแนวทางหรือลักษณะของกิจกรรมหรืองานให้เอื้อต่อการเกิดวินัยในตนเอง คือสามารถเรียนรู้และซึมซับผ่านกระบวนการทำงานนั้นๆได้

กรณีตัวอย่าง : เด็กหญิงจุ๋ม อายุ 3ปี มีปัญหาการนอน ทุกๆครั้งที่ถึงเวลานอน จุ๋มจะงอแง ไม่ยอมเข้านอน จากการสอบถามและสัมภาษณ์พบว่า จุ๋ม ฝันร้ายเวลานอน จึงทำให้กลัวทุกครั้งที่จะต้องนอน หลังจากทำความเข้าใจกับพ่อแม่แล้ว มีการจัดห้องนอนใหม่ โดยเอารูปชองพ่อแม่มาวางไว้ที่ไฟสามารถส่งถึง          และทุกครั้งที่จุ๋มลืมตาจะเห็นรูปนั้นได้ หลังจากนั้นความกังวลใจและการไม่ยอมนอนของจุ๋มก็ดีขึ้น

5.เสริมความอบอุ่นและมั่นใจ ช่วยเหลือเด็กในด้านความรู้สึกทุกครั้งที่เด็กต้องเผชิญความล้มเหลวหรือ    พ่ายแพ้ เพราะทุกๆ ครั้งที่ล้มเหลวหรือพ่ายแพ้ เด็กจะรู้สึกกลัวภาวะที่เกิดขึ้น การยืนยันถึงความรักให้เด็ก มั่นใจว่า ถ้าแม้เด็กจะล้มเหลวอย่างไร ผู้เลี้ยงดูก็ยังรัก และยินดีร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยเสมอทุกครั้ง จะช่วยให้เด็กมีความกล้าและสามารถเรียนรู้ได้

 

กรณีตัวอย่าง : ครูสมบูรณ์ ครูประชั้นประถมปีที่4 ประกาศต่อหน้านักเรียนในชั้น ในวันแรกของการเปิดภาคเรียนการศึกษาว่า ครูมีขวดโหล 1ใบตรงนี้ ทุกๆครั้งที่ใครก็ตามในชั้นพบข้อผิดพลาดจากการสอน      ครูได้ให้เอากรวด 1ก้อนใส่ลงไปในขวดโหลนี้ทุกครั้ง ถ้าขวดโหลนี้เต็มเมื่อไร ครูจะพานักเรียนในชั้นไปทัศนศึกษาตามแต่นักเรียนจะตกลงกัน การกระทำของครูสมบูรณ์ ทำให้นักเรียนกล้าโต้ตอบ และเรียนรู้  และแสดงให้เห็นว่าทุกคนสามารถที่จะทำได้ทุกคน

ดังนั้น ความภาคภูมิใจในตนเองมีบทบาทอย่างมากในชีวิตของทุกคน ความเจ็บป่วยทั้งกายและใจที่เกิดขึ้น ตลอดจนคุณภาพชีวิตจะดีหรือเลว เมื่อสืบค้นไปสู่วัยเด็กจะพบว่าขึ้นอยู่กับลักษณะการปลูกฝังหรือการเลี้ยงดูที่มีผลต่อความภาคภูมิใจอย่างมาก ดังนั้นความภาคภูมิใจในตนเองที่แข็งแกร่งจึงเป็นมรดกที่ล้ำค่าสำหรับเด็กทุกคน  (แหล่งข้อมูลจาก "ชลอศักดิ์ ลักษณะวงศ์ศรี" : สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต)

 

·       การเสริมสร้างให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง 10 ประการ

การเสริมสร้างหรือสนับสนุนให้เด็กเกิดมีความรู้สึก และความสามารถแตกต่างจากผู้อื่นที่เรียกว่า               เกิดความภาคภูมิใจในตนเองนั้น พ่อแม่ควรรู้จักวิธีที่จะเสริมสร้างมาตั้งแต่เด็กและมีอายุไม่มากนัก                            ซึ่ง รศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ และรองคณบดี คณะแพทยศาสตร์        โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อแนะนำไว้ 10 ประการดังนี้
1.กระตุ้นให้เด็กแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากความคิดของผู้ใหญ่                                                               แม้ว่าผู้ใหญ่จะไม่เห็นด้วยกับความคิดที่เด็กแสดงออกก็ตาม แต่เด็กต้องการทราบว่าผู้ใหญ่จะยอมรับ          ความคิดเห็นของตนหรือไม่ ถ้าเด็กรู้ว่าผู้ใหญ่ยอมรับความคิดเห็นของตน เด็กก็จะแสดงออก แต่ถ้าผู้ใหญ่  ไม่ยอมรับความคิดเห็นของเด็ก แต่ไม่ยอมรับความคิดเห็นที่เด็กนำมาจากผู้ใหญ่ เด็กก็จะเอาความคิดเห็นของผู้ใหญ่มาแสดง เพื่อให้ได้รับการยอมรับ ลักษณะดังกล่าวนี้มีความสำคัญยิ่งในการช่วยให้เด็กแก้ปัญหาต่างๆ เด็กจะมีความรู้สึกดีใจที่รู้ว่าตนได้รับการยอมรับ แม้ว่าความคิดเห็นนั้นๆ อาจจะไม่เฉียบแหลมนัก     ก็ตาม ความคิดเห็นที่เด็กเสนอแม้จะไม่มีคุณค่าหรือแก้ปัญหาไม่ได้ แต่ก็ทำให้เด็กกล้าแสดงออกซึ่งความ   คิดเห็นของตนเองได้ดี โดยไม่ต้องพึ่งความเห็นของผู้อื่น

2.ต้องแสดงการยอมรับเด็ก การแสดงการยอมรับเด็กและให้เด็กได้ทราบนั้น พ่อแม่ต้องแสดงออกด้วยการใช้คำพูดแสดงการยอมรับในทัศนคติหรือความคิดเห็นของเด็ก ทั้งนี้เพื่อให้เด็กได้รับรู้อย่างชัดเจน เช่น      พ่อเข้าใจลูกว่าทำไมลูกจึงทำเช่นนั้น แต่พ่อยอมรับการกระทำของลูกไม่ได้ เป็นต้น ลักษณะดังกล่าวเป็นการแสดงการยอมรับในตัวเด็ก แต่ไม่ยอมรับการกระทำของเด็ก ดังนั้น การยอมรับเด็กมิได้หมายถึงการอนุญาตให้เด็กกระทำได้ทุกอย่างตามใจชอบ เมื่อเด็กได้รับการยอมรับ เด็กก็จะเห็นความสำคัญของตนเอง เกิดความมั่นใจ และกล้าแสดงออกซึ่งความเป็นตัวของตัวเอง

3.ชี้ให้เห็นว่าเด็กมีความแตกต่างจากผู้อื่นหรือมีความพิเศษ                                                                         พ่อแม่ต้องพยายามแสดงให้เด็กเห็นว่า  เด็กมีทั้งความเหมือนกับผู้อื่น และความแตกต่างไปจากผู้อื่น          แต่เด็กแต่ละคนก็มีความรู้สึกว่าตนมีความแตกต่างจากเด็กอื่น การแสดงความคิดเห็นที่มีลักษณะเป็น         ตัว  ของตัวเอง แสดงว่าเด็กมีความพิเศษในตัวเองแล้ว  การยอมรับในความเป็นพิเศษของเด็กนี้ จัดว่ามี   ความสำคัญยิ่งสำหรับการสร้างเสริมความพิเศษต่างจากผู้อื่นในเด็ก พ่อแม่อาจแสดงการยอมรับเด็ก            ดังตัวอย่างต่อไปนี้ ลูกระบายสีรูปนี้ได้สวยงามจริงๆ ลูกทำตัวได้เรียบร้อยน่ารักมาก ตอนที่ป้าสมหญิง      มาที่บ้านเรา เหล่านี้ทำให้เด็กมีความรู้สึกว่าเด็กมีความดีงามในตนเอง รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่เด็กทำได้ดี         และส่งเสริมให้ทำดียิ่งขึ้น ยิ่งกว่านั้น เด็กจะได้รับรู้ความก้าวหน้าของตน จากคำพูดของพ่อแม่ เช่น             เมื่อวันก่อนลูกยังทำไม่ได้เลย แต่วันนี้ลูกทำได้ดีเยี่ยมจริงๆ คราวหน้าคงจะทำได้ดีกว่านี้แน่ เป็นต้น          พ่อแม่ต้องให้เด็กรู้ว่าการที่เด็กกระทำแตกต่างจากผู้อื่น จะได้รับการยอมรับจากพ่อแม่เช่นกัน

4.ให้เด็กกระทำตามวิธีการของตนเองให้มากที่สุด    พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้กระทำตามวิธีการของตนเองให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาหรือการกระทำสิ่งใด โดยเข้าไปยุ่งเกี่ยวให้น้อยที่สุด พ่อแม่มักเป็นห่วงด้วย เกรงว่าเด็กจะทำไม่สำเร็จหรืออาจเกิดความเสียหายขึ้น ถ้าหากปล่อยให้เด็กกระทำไปตามลำพัง เมื่อใดที่พ่อแม่มอบหมายงานให้เด็กทำและคิดว่าเด็กต้องทำเสร็จ พ่อแม่ต้องปล่อยให้เด็กทำจนสำเร็จภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรฐานที่เหมาะสม และตามวิธีการของเด็กเอง เมื่อเด็กกระทำภารกิจดังกล่าวสำเร็จสมบูรณ์ตามวิธีการของเด็กเอง และได้รับการยอมรับจากพ่อแม่ เด็กก็จะเกิดความรู้สึกพิเศษต่างจากผู้อื่น    ในการกระทำสิ่งใดก็ตาม พ่อแม่ต้องเปิดโอกาสให้เด็กตัดสินใจด้วยตนเอง ให้เด็กรู้จักเลือกวิธีใดเหมาะสม ที่สุด ได้ประโยชน์สูงสุด มีคุณค่าที่สุด และเด็กพอใจที่สุด


5.ให้โอกาสแก่เด็กในการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์    พ่อแม่ต้องสร้างบรรยากาศในบ้าน ด้วยการจัดหาวัสดุสิ่งของที่จะช่วยให้เด็กสามารถแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ให้มีจำนวนเพียงพอ เช่น กระดาษสี กรรไกร      ใบมีด พู่กัน ดินสอสี ชอล์กสี แผ่นไม้ ไม้อัด ใบเลื่อย กาว เชือก ดินเหนียว ดินน้ำมัน ปูนปลาสเตอร์ เป็นต้น สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ในบ้านที่ไม่ได้ใช้แล้ว สามารถนำมาดัดแปลงเพื่อเป็นสื่อในการแสดงออกอย่าง         สร้างสรรค์ของเด็กได้อย่างกว้างขวาง เด็กอาจนำมาต่อเป็นบ้าน เป็นปราสาท เป็นรถไฟ เป็นเรือ อันจะช่วยให้เด็กพัฒนาความสร้างสรรค์ของตนให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น พ่อแม่อาจร้องเพลง เปิดแถบเสียง หรือเล่นดนตรี แล้วให้เด็กฟ้อนรำหรือร้องตาม ให้เด็กเล่าเรื่องที่ได้ประสบมาจากโรงเรียน เหล่านี้จะช่วยให้เด็กแสดงออกด้วยความสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น

6.ให้เวลาเด็กในการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ในสิ่งที่เด็กสนใจ   การเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกในสิ่งที่เด็กสนใจนั้น พ่อแม่ต้องไม่ทำให้เด็กมีความรู้สึกว่า เด็กถูกบังคับให้ทำ ต้องทำตามรูปแบบ ต้องทำให้เสร็จตามเวลาที่กำหนด ความสนใจของเด็กเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บางอย่างที่เด็กสนใจเด็กอาจใช้เวลาทำ  เป็นชั่วโมง ถ้าหากเด็กยังแสดงความสนใจในเรื่องหนึ่ง พ่อแม่ต้องไม่ขัดจังหวะ และต้องไม่คำนึงถึงเรื่องที่    เกี่ยวข้องมากเกินไป จนทำให้เด็กเสียความสร้างสรรค์ บางโอกาสพ่อแม่ต้องยอมรับในความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ความล่าช้า ความอึกทึกอันเกิดจากการแสดงออกของเด็ก เด็กที่มีความสร้างสรรค์จะมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นความสร้างสรรค์ไปหมด เช่น ท่อนไม้ ฝากระป๋อง ยางรถ ฝาขวดน้ำอัดลม แกนกระดาษเช็ดมือ เสื้อผ้าเก่าๆ เป็นต้น เด็กสามารถนำมาใช้เป็นสื่อในการแสดงออกได้อย่างกว้างขวาง หนังสือในห้องสมุด รายการโทรทัศน์ จัดว่าเป็นเครื่องกระตุ้นให้เด็กมีการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์มากที่สุด

7.หลีกเลี่ยงการเยาะเย้ยหรือทำให้เด็กอับอาย    แม้ว่าเด็กจะมีข้อจำกัดในการกระทำบางอย่าง ซึ่งทำให้เด็กสามารถทำกิจกรรมได้อย่างสมบูรณ์ แต่ผู้ใหญ่ก็ไม่ควรพูดเยาะเย้ยหรือถากถางเด็ก ทำให้เด็กได้รับความ  อับอาย อันจะเป็นผลทำให้เด็กไม่กล้าแสดงออก เนื่องจากกลัวถูกพูดถากถาง กลัวได้รับความอับอาย       การทำให้เด็กได้รับความอับอาย แสดงว่าเด็กถูกตัดสินว่าผลงานของเด็กไม่บรรลุมาตรฐานที่กำหนดไว้     ซึ่งอาจเป็นมาตรฐานของผู้ใหญ่หรือมาตรฐานของผู้อื่น ทำให้เด็กมีความรู้สึกว่าความสามารถหรือความ      ดีเด่นของตนไม่ได้รับการยอมรับ พ่อแม่พึงรำลึกอยู่เสมอว่า การจะตัดสินเด็กควรตัดสินที่การกระทำของเด็กมิใช่ตัดสินที่ลักษณะนิสัยบุคลิกภาพของเด็กโดยส่วนรวม สิ่งที่ฝังใจเด็กในอดีตสมัยเยาว์วัยจะฝังอยู่ในความสนใจของเด็กจนตลอดชีวิต หากเด็กมีความสนใจอะไรเป็นพิเศษ พ่อแม่อย่าเย้ยหยันความคิดของเด็ก อย่าดูถูกความสามารถของเด็ก

8.ช่วยให้เด็กหาวิธีที่จะแสดงออกอย่างเหมาะสม   ผู้ใหญ่ควรตระหนักอยู่เสมอว่า การลงโทษเด็กนั้นควรกระทำเพราะเด็กทำผิดอย่างไร ที่ใด (วิธีการสถานที่) มิใช่ลงโทษเพราะเด็กทำอะไรผิด (เรื่องที่ทำผิด) เช่น เด็กเล่นส่งเสียงดังกันในห้องของเด็ก ไม่ถือว่าเป็นความผิด แต่ถ้าหากมีแขกมาบ้าน เด็กเล่นส่งเสียงดังกัน   ที่ห้องรับแขก ถือว่าเป็นความผิดหรือเด็กอาจจะระบายสีกันในครัว ถือว่าไม่ผิด แต่ถ้าหากมาระบายสีกัน     ที่ห้องรับแขกถือว่าผิด การเล่นกันในบ้านถือว่ากระทำได้ แต่การเล่นและส่งเสียงดังในบ้านถือว่าเป็น      พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น พ่อแม่ควรแนะนำให้เด็กทำงานหรือเล่น โดยที่การกระทำของเด็กไม่     รบกวนผู้อื่น การกระทำเช่นนี้มิได้หมายความว่า เมื่อเด็กทำอะไรแล้วคนอื่น ๆ จะต้องยุติกิจกรรมของตน  ทั้งหมด ในขณะที่เด็กทำกิจกรรม เด็กจะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนอื่น ๆ ซึ่งก็กำลังทำกิจกรรมอยู่เช่นกัน การกระทำท่ามกลางคนหมู่มาก แต่ละคนจำเป็นต้องมีความอดกลั้นและอดทน การที่   เด็กมีความสร้างสรรค์ มิได้หมายความว่าจะต้องทำตัวให้เป็นที่น่ารังเกียจ เช่น ทำอะไรได้ตามใจ ทำอะไร  ได้แปลก ๆ ทำอะไรได้รกรุงรัง เป็นต้น เมื่อผู้ใหญ่ได้แสดงให้เห็นทางเลือกที่เหมาะสม และเด็กได้เลือก  ทางเลือกนั้น ๆ นำมาปฏิบัติแล้ว ผู้ใหญ่ก็ควรแสดงการยอมรับเด็ก และชมเชยในความสำเร็จ
 
9.เด็กที่มีความพิเศษต่างจากผู้อื่นต่ำ ควรได้รับความชมเชยเป็นส่วนตัว  โดยปกติเด็กที่มีความรู้สึกว่า       ตนเองไม่มีความดีพิเศษอะไร มักจะไม่กล้ารับคำชมเชยเมื่อเด็กกระทำสำเร็จหรือกระทำความดี เด็กจะมีความกระดากอายเมื่อได้รับคำชมเชย เด็กกลัวคำครหานินทาจากผู้อื่น ดังนั้นจึงไม่ต้องการให้ผู้อื่นทราบว่าตนได้รับคำชมเชย แม้แต่ในครอบครัวก็เช่นกัน ดังนั้นเมื่อเด็กมีปัญหาเกี่ยวกับความพิเศษที่ต่างจากผู้อื่น    ทำกิจกรรมประสบความสำเร็จ พ่อแม่หรือครู ควรหาโอกาสยกย่องชมเชยเด็กเป็นส่วนตัว เช่น กระซิบที่หูเรียกเด็กมาชมตัวต่อตัว หรือไปชมเด็กที่ห้องนอนของเด็ก เป็นต้น ทั้งนี้พ่อแม่ต้องแสดงให้เห็นว่าการกระทำของเด็กนั้นเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่เป็นที่ประทับใจของผู้ใหญ่มาก
 
10.เด็กที่มีความพิเศษต่างจากผู้อื่น เป็นผู้ที่มีคุณธรรมสูง    เด็กที่มีคุณธรรมสูงเป็นผู้ที่มีความรู้สึกว่าตนมีความพิเศษต่างจากผู้อื่น ความเป็นผู้มีคุณธรรมสูงทำให้เด็กมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นคนดี ตนเองเป็นคนมีคุณค่า แม้จะไม่มีคุณวิเศษในด้านอื่น เช่น เรียนดี กีฬาเก่งหรือร่ำรวย เป็นต้น แต่ความเป็นผู้มีคุณธรรมทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเป็นคนดี ความเป็นคนดีของเด็กทำให้เด็กมีความรู้สึกว่า ตนมีความพิเศษแตกต่างจากผู้อื่น    ดังนั้นพ่อแม่และครูที่จะฝึกให้เด็กมีความรู้สึกพิเศษต่างจากผู้อื่น จำเป็นต้องฝึกอบรมให้เด็กเป็นผู้มีคุณธรรม เช่น มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความเมตตากรุณา ไม่อิจฉาริษยา เป็นต้น ความรู้สึกว่าตนเป็นคนดี มีคุณธรรมเป็นความรู้สึกที่ก่อให้เกิดความพิเศษต่างจากผู้อื่น ดังนั้นในการสอนให้เด็กมีคุณธรรมจึงเป็นการพัฒนาความพิเศษต่างจากผู้อื่นให้แก่เด็กได้อีกทางหนึ่ง การฝึกให้เด็กมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์ การฝึกให้เด็กมีความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งมีการฝึกให้เด็กมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น จึงเป็นเบื้องต้นของการปลูกฝังความพิเศษต่างจากผู้อื่น

 

·       Self-esteem จะเป็นเสมือน Software ที่ติดตั้งอยู่แล้วในแต่ละบุคคล ซึ่งจะเป็นตัวบอกว่าคนๆ นั้นจะสามารถประสบความสำเร็จได้หรือไม่ เพราะคนที่มี Self esteem ต่ำคือคนที่คิดอยู่เสมอว่าตนเองไม่ดีพอ ไม่เก่งพอ ทำอย่างไรก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เพราะคิดอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ล้มเหลว   สมความปรารถนา แต่ในขณะเดียวกันคนที่มี Self esteem สูงจะเป็นคนรู้ดีว่าตนเองนั้นเป็นคนดี มีคุณค่า เป็นที่รักของคนอื่น เป็นคนมีความสามารถ พร้อมที่จะแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองอยู่ตลอดเวลา และสามารถฝ่าฟันปัญหาชีวิตได้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม เหล่านี้เป็นเสมือนตัวที่คอยเตือนสติและให้กำลังใจตนเองอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ประสบความสำเร็จ และมีความสุขได้อย่างไม่ยากเย็นนัก Self esteem เป็นสิ่งที่สามารถสร้างเองได้  ซึ่งวิธีการเลี้ยงดูบุตรหลานและวิธีการทำให้คนรอบข้าง มี Self-esteem ทำได้ ดังนี้                                                                                                                                               1)ในกรณีที่เป็นพ่อแม่ต้องให้โอกาสลูกในการใช้เหตุผลในการเลือกและตัดสินใจด้วยตนเอง                  กรณีคนรอบข้างเราต้องให้อีกฝ่ายรู้จักคิดและแสดงความเห็น และเราเป็นผู้ฟังที่ดี แต่จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ต้องมีเหตุผลในการอธิบาย                                                                                                                                                          2)เวลาวิพากษ์วิจารณ์ หรือดุด่าว่ากล่าวควรมีเหตุผลอธิบายทุกครั้ง ไมใช่ทำตามอารมณ์ และควรจะเฉพาะเจาะจงว่าเป็นเรื่องใด เรื่องเก่าที่เคยทำผิดไม่ต้องขุดมาว่าซ้ำ เพราะจะเป็นการทำลาย Self-esteem ของเด็กได้

·       ปัจจัยที่มีผลในการพัฒนาบุคลิกภาพของบุคคลที่สำคัญ ๆ ส่วนใหญ่จะเริ่มหรือตั้งต้นจากวัย        เด็กตอนต้น Carl Roger (1902-1987) นักจิตวิทยามนุษยนิยมได้อธิบายว่า การนับถือตนเองพัฒนามาจาก    วัยเด็ก และเกิดจากปฏิสัมพันธ์ของพ่อแม่ บุคคลรอบข้างที่เด็กได้มี ปฏิสัมพันธ์ ด้วยให้การยอมรับและมี   ปฏิสัมพันธ์ หรือ ปฏิกิริยาตอบสนองต่อเด็กอย่างไร เด็กก็จะพัฒนาปฏิสัมพันธ์ในทิศทางที่ผู้ใหญ่มีต่อเขา พ่อแม่เป็นบุคคลที่มีความสำคัญที่สุดในการพัฒนาการนับถือตนเองในวัยเด็กตอนต้น ครั้นเมื่อพัฒนามาถึง วัยเด็กตอนปลายและวัยรุ่น ก็จะได้รับอิทธิพลจากครู เพื่อนและบุคคลอื่น ๆ ที่เขามีปฏิสัมพันธ์ด้วยว่าจะ      มีทิศทางในการตอบสนองใน ลักษณะสร้างสรรค์หรือทำลายความรู้สึกที่เขามีต่อตัวเอง (Denis Waitley : 1993)  เมื่อพ่อแม่หรือบุคคล ที่มีความสำคัญในชีวิต แสดงให้บุคคลรู้ว่าเขาได้รับการยอมรับอย่างไม่มี    เงื่อนไข คือยอมรับได้ในทุกกรณีไม่ว่าจะเป็นอย่างไร บุคคลก็จะพัฒนา การนับถือตนเองมากขึ้น ถ้าพ่อแม่  ผู้ปกครองแสดงให้เห็นว่าสามารถยอมรับเด็กต่อเมื่อ เด็กเป็นหรือทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการ เด็กจะพัฒนาการนับถือตนเองได้ไม่ดีนัก เพราะเด็กไม่เข้าใจว่าผู้ใหญ่ต้องการให้ทำอะไรหรือต้องการอะไรจากเขา และท้าย ที่สุดเขาก็จะรู้สึกว่าเป็นเด็กไม่ดี เพราะไม่สามารถทำตามที่ผู้ใหญ่อยากให้ทำได้  เด็กจะยิ่งสับสนถ้าผู้ใหญ่มีมาตรฐานที่แตกต่างกัน ดังนั้นพ่อแม่ไม่ควรตอกย้ำ ความรู้สึกของเด็กโดยเอาเด็กไปเปรียบเทียบกับคนอื่น หรือความรู้สึกที่ว่าเด็กยังไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น เพราะเด็กจะเปรียบเทียบ ตนเองกับเด็กคนอื่นแล้วด้อยกว่าก็จะรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองลดลง ซึ่ง Carl Roger เชื่อว่า Self-esteem จะพัฒนาในเด็กขึ้นอยู่กับ การยอมรับของพ่อแม่ผู้ปกครอง 

พ่อแม่ ให้การยอมรับเด็ก โดยปราศจากเงื่อนไข ==>>> การนับถือตนเองสูง                                                              พ่อแม่ ให้การยอมรับเด็ก แบบมีเงื่อนไข ==>>>การนับถือตนเองต่ำ

(แหล่งข้อมูลจาก บทความ "The Six Pillars of Self Esteem" แต่งโดย Nathaniel Brandon ว่าด้วยเรื่อง  การสร้างความนับถือตนเองหรือ Self esteem)

 

·       เทคนิคการเสริมสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง

วิธีการที่จะเสริมสร้างความภาคภูมิใจให้ตนเองนั้น มีเป้าหมายหลักเพื่อให้บุคคลรู้สึกว่าตนเองมีประโยชน์  มีความสำคัญ มีคุณค่าและสามารถกระทำสิ่งต่างๆได้ และรู้สึกว่าตนเองประสบความสำเร็จ เป็นที่พอใจของตนเองและเป็นที่ยอมรับจากบุคคลรอบข้าง วิธีที่จะช่วยให้บุคคลมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง มีเทคนิค  ดังนี้

1)            ค้นหาความสนใจ จุดมุ่งหมาย และข้อดีของตนเอง

2)            เมื่อทำสิ่งใดก็ตาม ให้มุ่งมั่นในการทำงานมากกว่าหวังผลลัพธ์ของการทำงาน

3)            มองตนเองและคนอื่นในแง่ดีไว้ก่อน

4)            ควรจำไว้ว่าบางครั้งเราก็อาจทำผิดได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นการล้มเหลว

5)            ให้เวลาและโอกาสกับตนเองในการเริ่มต้นใหม่

6)            จงพูดกับตนเองเสมอว่า ฉันเป็นคนมีความสามารถ ฉันเป็นคนมีความรับผิดชอบ

 

กิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้าง Self-esteem

·       ส่งเสริมให้เด็กได้เข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างสรรค์

กิจกรรมที่เสริมสร้าง การทำงานเป็นทีม ทำงานร่วมกัน เพื่อประสบความสำเร็จ จะเป็น  กิจกรรมที่ดีในการสร้างความมั่นใจ และ ความภูมิใจ ในตนเอง เช่น กิจกรรมที่ให้พี่สอนน้องอ่านหนังสือ จะเป็นผลดีต่อความภูมิใจในตนเองทั้งสองฝ่าย เป็นต้น ส่วนกิจกรรมที่เน้นการแข่งขัน และ ผลลัพธ์ของการแข่งขันจะไม่ค่อยเป็นผลดีนัก เพราะจะทำให้เด็กเคร่งเครียดจนเกินไป

·       ข้อเสนอแนะในการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้าง Self-esteem ให้กับเด็ก

1)            ให้เด็กๆลองสำรวจหรือนึกถึง "ความสามารถ ข้อดีหรือสิ่งที่ดีๆเกี่ยวกับตัวเอง" แล้วเขียนลงบนกระดาษด้านหนึ่ง ส่วนกระดาษอีกด้านหนึ่งนั้น ให้เด็กๆเขียนเกี่ยวกับ "สิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด หรือข้อบกพร่องของตัวเอง" โดยมีจุดประสงค์เพื่อ

-         ให้เด็กได้ทบทวน ทำความเข้าใจ และยอมรับในสิ่งที่ตนเองเป็น ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละคน

-         ให้เด็กได้ตระหนักและเข้าใจถึงความแตกต่างของมนุษย์ ว่าทุกคนย่อมมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน

-         ให้เด็กฝึกมองปัญหาและมองโลกในแง่ดี รู้สึกดีและภาคภูมิใจในความสามารถหรือข้อดี/ข้อเด่นของตนเอง แล้วนำมาพัฒนาต่อยอดกระทั่งถึงศักยภาพหรือความสามารถสูงสุดของตนเอง

-         ให้เด็กแต่ละคนเข้าใจถึงข้อบกพร่องของตนเอง เพื่อนำมาวิเคราะห์ ปรับปรุงแก้ไขให้ดี  ยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นที่ความเข้าใจและการแก้ปัญหา ไม่ใช่การดูถูกหรือตำหนิตนเอง

2)            ให้เด็กๆสำรวจและเขียนเกี่ยวกับ "ความใฝ่ฝัน หรือเป้าหมายชีวิตของตนเอง" เพื่อให้เด็กๆเรียนรู้ที่จะฝันและมีความหวังในชีวิต ตลอดจนมุ่งมั่นพยายามทำความใฝ่ฝันนั้นให้สำเร็จ ซึ่งเจ้าหน้าที่หรือผู้ดูแลเด็กมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนความคิดที่ถูกต้องเหมาะสมของเด็ก และแนะแนวทางในการนำไปสู่ความสำเร็จนั้น

3)    กิจกรรมสานสัมพันธ์ครอบครัว (เช่น ค่ายครอบครัว) เพื่อให้เด็กได้ใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันกับพ่อแม่หรือผู้ปกครองของตนเองมากยิ่งขึ้น โดยรายละเอียดของค่ายครอบครัวนั้นควรมุ่งเน้นที่การฝึกให้พ่อ แม่ ลูกได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน พยายามทำความเข้าใจและยอมรับซึ่งกันและกัน ตลอดจนเรียนรู้ถึงวิธีการแสดงความรักที่ถูกต้องเหมาะสม

No comments: