Monday, February 22, 2010

บันทึกเนื้อหางาน "โฮมฮัก นักพัฒนา" ครั้งที่ 2/2010"

สรุปผลการประชุมโฮมฮักนักพัฒนาครั้งที่ 2

วันที่ 15-17 ก.พ. 2010 ที่โรงแรมบุษราคัม จ.ขอนแก่น

ความคาดหวังของผู้จัดการประชุม

  • เพื่อเป็นการจุดประกายความคิดในการทำงานด้านการศึกษา และ ด้านเศรษฐกิจ
  • เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันจากการศึกษา และ ประสบการณ์ ระหว่างกันและกัน
  • เกิดรูปแบบการดำเนินงานบางอย่างที่จะนำไปสู่การปฏิบัติร่วมกัน

เรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา โดย รอง ผอ.เขตการศึกษาที่ 4 นายวสันต์ สัตยคุณ

มีไฟล์ presentation

การวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจะวัดอยู่ด้วยกัน 3 ด้าน คือ

· ด้านความรู้ เช่น 1+1=2 แต่รองผอ.ได้แนะนำว่า กรณีเด็กตอบ 1+1=1 ก็อย่าเพิ่งไปตำหนิ ให้ฟังเหตุผลของเด็กก่อน เพราะว่าการตำหนิอาจเป็นการปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของเด็กได้ แต่ต้องอธิบายให้เด็กฟังว่า กรณีบวกเลขนี้มันมีหลักการที่ถูกต้องอย่างไร

· ด้านทักษะ

· ด้านทัศนคติ เช่น ลองสังเกตว่าเวลาเข้าเรียน เด็กนั่งก้มหน้าหรือไม่ ถ้าใช้ นั่นอาจแสดงว่าเด็กอาจมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเรียนวิชานี้ก็เป็นได้ (มีแบบประเมินมากมาย)

ความสำคัญของการวัดผล

· เป็นกระบวนการที่จะได้ข้อมูลมา

· ได้ทราบพัฒนาการและความก้าวหน้าของการเรียนรู้

· ได้รู้จุดเด่น จุดด้อยของเด็ก เพื่อการส่งเสริมเด็กต่อไป และ หาทางปรับปรุงให้ดีขึ้น (จุดด้อย)

· ทำให้เจ้าตัวทราบสถานะของตนเอง เกิดแรงจูงใจที่จะต้องพัฒนาตนเองต่อไปให้มากขึ้นในด้านใด

หลักการการวัดผล

· ทำต่อเนื่อง และ ควบคู่ไปกับการเรียนการสอน

· สอดคล้อง คือ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และ เป้าหมายของหลักสูตร

· ครอบคลุมทุกด้าน และ ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความกระตือรือร้น

แนวคิดในการพัฒนาคุณภาพในปัจจุบัน คือ

1. ครูมีความรู้หรือไม่ ซึ่งในปัจจุบันมีการสอบวัดความรู้ครูในกลุ่มสาระ เพราะเชื่อว่าหากครูมีความรู้จะทำให้เด็กมีความรู้ดีตามไปด้วย แต่ถ้าหากครูมีความรู้ดี แต่การวัดผลเด็กยังได้ต่ำ นั่นอาจหมายถึงวิธีการสอนไม่ดี และถ้าหากวิธีการสอนดี อาจเป็นไปได้ว่าสื่อการเรียนการสอนไม่ดี ไม่สอดคล้องกับเนื้อหา ก็ต้องแก้กันต่อไป

วัตถุประสงค์ของการศึกษาในปัจจุบันคือ

· เด็กดี

· เด็กเก่ง

· เด็กมีความสุข

วิธีการวัดผลและประเมินการเรียนรู้และตัวอย่างเครื่องมือที่ใช้ในปัจจุบัน

วิธีการวัด

ตัวอย่างเครื่องมือ

การทดสอบ

แบบสอบข้อเขียน , แบบวัด

การสัมภาษณ์

แบบสัมภาษณ์

การใช้แฟ้มสะสมงาน

แบบบันทึก แบบประเมินผลงาน

การสังเกต

แบบตรวจสอบรายการ

การตรวจผลงาน

แบบประเมินผลงาน

การประเมินผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษาของไทยในปัจจุบัน มี 3 ระดับ ดังนี้

· ประถมศึกษา

· มัธยมศึกษาตอนต้น

· มัธยมศึกษาตอนปลาย

ส่วนที่เป็นการวัดผลของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ

· NT : National Test จะวัด ป.3 และ ป.6 ทุกรายวิชา

· LAS : Local Assessment จะวัด ป.5 และ ม.2 ทุกรายวิชา

(โดยเป็นเนื้อหาทั่วไป)

ส่วนที่เป็นการวัดผลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ คือ

· O-NET : Ordinary National Education Testing เป็นการวัดความรู้ความสามารถรวบยอดปลายช่วงชั้น วัดมาตรฐานตามหลักสูตร มีการวัดใน ป.6 ม.3 ม.6 และปวช. ซึ่งปีนี้ข้อสอบจะเปลี่ยนแปลงเป็นแบบกลุ่มสัมพันธ์คือ มีหลายคำถามหลายคำตอบ เป็นข้อต่อเนื่องกัน เพื่อป้องกันการเดา หรือ การตอบคำตอบทิ้งดิ่ง

· GPAX (การวัดผลการเรียนเฉลี่ย 6 ภาคเรียนทุกกลุ่มสาระ

· การสอบเข้ามหาวิทยาลัย ประกอบไปด้วย GAT , PAT , O-NET

Website ที่จะหาความรู้เพิ่มเติมคือ สถาบันทดสอบแห่งชาติ จะอธิบายแต่ละตัวโดยละเอียดว่าคืออะไร

GAT : General Aptitude Test (ความถนัดทั่วไป) การอ่าน การเขียน การคิดวิเคราะห์ การแก้โจทย์ปัญหา การสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ

PAT : Professional Aptitude Test (วิชาความถนัดต่างๆ)

PISA : Programme for International student Assessment วัดความรู้ความสามารถเยาวชนอายุ 15 ปี

ซึ่งประเทศไทยได้วัดแล้วจาก 57 ประเทศทั่วโลก วิชาวิทยาศาสตร์ อยู่ในลำดับที่ 46 วิชาคณิตศาสตร์ อยู่ในลำดับที่ 44 และ วิชาการอ่าน อยู่ในลำดับที่ 41 ซึ่งประเทศไทยกำลังจะปรับปรุงการเรียนการสอน / หลักสูตร เหล่านี้

แนวทางการมีส่วนร่วมเพื่อผลสัมฤทธิ์

SBM : School Based Management คือ มุ่งให้ผู้เรียนมีคุณภาพ ผู้เรียนมีศักยภาพ สถานศึกษามีมาตรฐาน


หลักของ SBM

· หลักการกระจายอำนาจ

o เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

o เพื่อการพัฒนาการศึกษาของเด็ก

· หลักการมีส่วนร่วม

o ทำให้มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ

o สร้างเกิดความรับผิดชอบ

· หลักการคืนอำนาจจัดการศึกษาให้ประชาชนในรูปการเป็นคณะกรรมการสถานศึกษา ประกอบด้วย

o ท้องถิ่นและประชาชน

o อปท. ครอบครัวและชุมชน

o สถานประกอบการ

· หลักการบริหารตนเอง

o ส่วนกลาง นโยบาย และเป้าหมาย

o โรงเรียนบริหารด้วยตนเอง

· หลักการตรวจสอบและถ่วงดุล

o ส่วนกลางกำหนดนโยบายควบคุมมาตรฐาน

o องค์กรอิสระตรวจสอบคุณภาพ

o คณะกรรมการโรงเรียนตรวจสอบและถ่วงดุล

โดยสรุปคือ

· การกระจายอำนาจการศึกษา และ

· การมีส่วนร่วม

SBM เป็นการบริหารงานโดยคณะกรรมการสถานศึกษา มีอำนาจตัดสินใจ มีสิทธิ์กำหนดเป้าหมาย กำกับ สนับสนุน และส่งเสริมการบริหารงานได้

คณะกรรมการสถานศึกษา ประกอบด้วย

· ครู

· ผู้ปกครอง

· ผู้บริหารโรงเรียน

· ผู้ทรงคุณวุฒิ

· ศิษย์เก่า

· องค์กรชุมชน

· องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

· สถานประกอบการ

บทเรียนการทำงานกับคณะกรรมการสถานศึกษาในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดย ผอ.สมแพน จำปาหวาย ร.ร. บ้านหว้า

หลักคิดของผอ.

· รู้และเข้าใจในสิ่งที่จะทำ เมื่อเข้าใจดีแล้วต้องลงมือทำ จะทำอะไรก็ตามต้องทำด้วยใจและรู้สึกเป็นเจ้าของมัน

· ทฤษฎีการมีส่วนร่วม

· ต้องมีวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน โดยใช้ SBM หารูปแบบการบริหารโดยใช้ ร.ร.เป็นฐาน ทำอย่างไรให้ครู ผู้ปกครองรู้ว่า SBM คืออะไร การบูรณาการ บริหารตนเอง เน้นให้คนมีส่วนร่วม มีการตรวจสอบถ่วงดุลกัน และยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง

การสร้างศรัทธาให้เกิด เริ่มต้นที่ใจ จากใจ มองเห็นว่าเด็กเป็นทรัพยากรหรือเป็นสมบัติที่มีค่าที่สุด สภาพแวดล้อมในปัจจุบัน (สมัยใหม่) เอาเด็กไม่อยู่ ร.ร.จะต้องดูแลเด็กร่วมกับผู้ปกครอง ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองด้วยว่าผู้ปกครองจะต้องดูแลเด็กไม่ใช่โยนความรับผิดชอบมาที่โรงเรียนอย่างเดียว

การศึกษา คือ คนอื่นจัดให้ ส่วนการเรียนรู้ คือ เราต้องจัดหาเอาเอง

การศึกษาในปัจจุบันมี 3 แบบ

· การศึกษาในระบบ คือ

o มีหลักสูตรชัดเจน

o มีเวลาเรียนชัดเจน

o มีสถานบัน

· การศึกษานอกระบบ

o เช่น การอ่านหนังสือพิมพ์

o การสืบค้นในอินเทอร์เน็ต

o มีคนสอนสิ่งที่เฉพาะ เช่น การสอนสานแห

o กศน.

· การศึกษาตามอัธยาศัย คือ แล้วแต่ผู้สอนจะมีเวลาสอนให้

การศึกษาที่ผ่านๆ มา เอาเกณฑ์เป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง การศึกษาทุกคนจะต้องมีสิทธิ์ได้รับทั่วถึงกัน ปัจจุบันควรจะให้เด็กได้รับการศึกษาเพื่อให้เขาเป็นคนดี เป็นคนเก่ง และ เป็นคนมีความสุข

การทำงานอย่าให้ทุกอย่างกระจุกอยู่ที่ตัวเองคนเดียว ให้ทุกคนมีส่วนร่วม และให้เกียรติแก่กันและกัน เราจะทำงานได้โดยไม่ต้องสั่ง เพราะมีแผนงานชัดเจน เมื่อเราทำด้วยใจ คนอื่น (คณะกรรมการสถานศึกษา) ก็จะทำตามเรา

ตัวครูสำคัญที่สุด ภาษากาย การยิ้มแย้มแจ่มใส การมีความคิดสร้างสรรค์ เดินรอบๆ ด้วยรอยยิ้ม เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง แต่ไม่ทิ้งวิชาการ

การที่ประเทศไทยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ (การรวมตัวเข้ากับประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียน) ทำให้การเข้าออกประเทศระหว่างกันและกันเพื่อมาทำงานได้โดยเสรี ในอนาคตข้างหน้าอาจเกิดการเข้ามาแย่งงานคนไทยทำ เราจะต้องมองเห็นสิ่งนี้และเตรียมการป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ

โรงเรียนเป็นนิติบุคคล มีสิทธิ์ในการบริหารตัวเอง นำหลักการตลาดมาใช้ในการบริหารงาน (การสร้างแบรนด์เนม การให้ความรู้ การสร้างให้เกิดความจำเป็นต้องมี และ การสร้างความแตกต่าง) เช่น รร. บ้านหว้า แต่ก่อนมีเด็กเรียนน้อย แต่เดี๋ยวนี้มีเด็กมาสมัครเรียนมากขึ้น เพราะเขาเห็นว่าเด็ก รร.นี้เข้ามาแล้วมีความสุข

นำหลักธรรมทางพุทธศาสนามาปรับใช้ในการทำงาน คือ สัปปุริสธรรม

บทบาทของ NGO ต่อการทำงานด้านผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา โดย ผอ.สมาคมไทสร้างสรรค์ นายธีระวงค์ ธนิตเวช “พี่ฉี”

การให้การศึกษาแก่เด็กประถมวัย จะต้องให้การศึกษาทั้งครบ(ด้านอื่นไปด้วย) คือ การให้การศึกษาแก่ชุมชน แก่พ่อแม่เด็ก และ แก่ตัวเด็ก ควบคู่ไปด้วย จึงจะเกิดผล

การอ่านหนังสือให้เด็กเล็กฟัง เป็นการพัฒนาอ่านเพื่อการพัฒนาเด็ก สมาคมไทยสร้างสรรค์เป็นนักเล่าเรื่อง คือ นำเรื่องราวที่ดี ที่เกิดผลไปถ่ายทอดให้อีกที่ได้รับทราบและท้าทายให้นำไปใช้

การทำสิ่งใดต้องตั้งเป้าหมายให้ใหญ่เข้าไว้ และเริ่มทำจากสิ่งเล็กๆ สมาคมไทสร้างสรรค์ทำแคมเปญ ไม่ได้ทำ PR ไม่ทะเลาะกับใคร ไม่อ้างตนว่าเป็นศาสดาในเรื่องที่ทำ สมาคมไทยสร้างสรรค์สิ่งเดียวคือ ทำอย่างไรให้ผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้เด็กฟัง

การสร้างห้องสมุดให้เด็กได้เข้าไปอ่านหนังสือ ต้องคำนึงกายภาพ ความอลังการ ความซับซ้อน ความคิดสร้างสรรค์ในการก่อสร้างสถานที่ใช้ไม่ได้กับเด็ก แต่ความเรียบง่ายและความสบายต่างหากใช้กับเด็กได้

ถ้าเด็กสักคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาโดยเขารู้ว่ามีใครที่รักเขาอย่างมั่นคง เขาจะเติบโตมาและอยากเป็นคนดี

ปราชญ์ชาวบ้าน คือ พ่อคำเดื่อง

สังคมชนบทถูกหลอก เราถูกหลอกว่าต้องใช้เงิน ว่าพึ่งพาตัวเองแล้วจะอยู่ไม่ได้ ให้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเองจากการพึ่งพาคนอื่นมาพึ่งพาตัวเอง

หลักการทำงาน

· หนี้สินต้องลด

· งานต้องเบาลง

· ดินต้องดีขึ้น

· เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ (ปลูกพืชหลายชนิด)

· มีตัวช่วย (ต้นไม้โตขึ้นทุกวันๆ) ปลูกป่า ต้นไม้ที่โตเร็ว คือ ต้นไม้ที่ปลูกเร็ว

· มีสวัสดิการสำหรับลูกหลาน

· สามารถส่งมอบให้ลูกหลายได้

· ตายไป ลูกหลานที่เกิดขึ้นมากราบไหว้ได้

การทำนา แต่เดิมทำนาด้วยตัวเองครบวงจร (นารอบเดียว)ต่อมาชาวนากลายเป็นผู้จัดการนา ใช้ปุ๋ย ใช้รถไถ ใช้โรงสี (มีค่าใช้จ่ายตามเป็นพวง) ซึ่งทำให้จนไปตลอด ต้องตัดวงจรอุบาทว์นี้ให้ได้

· ให้ปลูกอย่างอื่นในที่ดินเท่ากัน

· บางอย่างทำน้อยลงแต่ได้เยอะขึ้น (ปลูกพืชอย่างอื่น เหนื่อยตอนเริ่มต้นครั้งแรก)

ซึ่งจะต้องเตรียมตัวรับวิกฤตของโลก คือ

· วิกฤตเศรษฐกิจ

· วิกฤตพลังงาน

· วิกฤตทางอาหาร

· วิกฤตโลกร้อน

จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านเลิกจ่าย (ลดรายจ่าย)

ให้แบ่งปันส่วนที่ดินเพื่อปลูกพืชสวนครัวสำหรับกิน คำนวณรายจ่ายที่เสียไปในแต่ละวัน ทำอะไรก็ได้ที่ใช้เวลาน้อยได้ผลจริง

นายบุญมี โทมา เกษตรกรตัวอย่าง อ.อุบลรัตน์ ด๊อกเตอร์มะละกอ

ความตั้งใจของพ่อบุญมี

ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก และจะปลูกต้นไม้เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ให้ดีขึ้น พ่อบุญมี มีที่ดิน 14 ไร่ แต่เดิมเคยล้มเหลวทุกอย่าง ปลูกมะละกอเคยส้มเหลวมะละกอตายหมด ปลูกตะไคร้ขายได้แค่ 2 ถุง แต่ไม่เคยท้อ ทดลองทุกอย่าง วิจัยทุกอย่างที่ปลูก หาสาเหตุและหาทางแก้ไขปรับปรุงไปเรื่อยๆ เคยขับรถโดยสารรับจ้าง รายได้ก็พอกินแต่คิดว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ ให้ความสำคัญกับความรักความอบอุ่นของครอบครัว ปัจจุบันประสบความสำเร็จเรื่องมะละกอ และตอนนี้กำลังเริ่มปลูกพริก

อ.วีระ ภาคอุทัย อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มข.

มุมมองนักวิชาการต่างจากมุมมองของชาวบ้าน ให้สอบถามถึงสาเหตุ/เหตุผลของการกระทำ หาความรู้ก่อนทำสิ่งใด ถ้ายังรู้ไม่ลึกก็หาช่องทางเชื่อมต่อกันไปเพื่อให้ได้ความรู้ที่แท้จริง เช่น เรื่องการค้าพริก (ปัจจุบันปริมาณพริกมีไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ) มีปัจจัยอะไรที่ส่งผลกระทบบ้าง กฎหมาย พฤติกรรมคน หรือข้อกำหนดทางการค้าระหว่างประเทศ

การพัฒนาที่ผ่านมาเน้นเศรษฐกิจดี ซึ่งปรากฏว่ามันไม่ใช่ แผนพัฒนาฉบับ 10 จึงมีเป้าหมายการพัฒนาคือ “การพัฒนาประเทศที่มุ่งสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุข”

เศรษฐกิจพอเพียงนำมาประยุกต์ใช้ได้กับสภาพปัจจุบัน ขยัน ซื่อสัตย์ อดทน ไม่หยุดหาความรู้ใหม่ๆอยู่เสมอ

การพัฒนาในอดีตที่ผ่านมาเป็นแบบการเข้าชุมชนแบบไม่หมด คือ เน้นทำให้เป็นแต่ไม่ได้คำนึงวาจะอยู่ได้หรือไม่ (ไม่มีช่องทางตลาด) เราควรจะต้องคำนึงถึงช่องทางการตลาด การเคลื่อนย้ายสินค้าด้วย สิ่งที่พัฒนาจึงจะอยู่รอดต่อไปได้

การพัฒนาจะต้องรู้จักชุมชนเสียก่อน เพราะชุมชนในอดีตกับปัจจุบันก็ไม่เหมือนกัน มี 3 ประเด็นที่เราจะต้องวิเคราะห์ คือ สภาพกายภาพ

· สภาพชีวภาพ สภาพดิน แหล่งน้ำ เป็นอย่างไร

· สภาพชีวภาพ ให้ทำปฏิทินการเพาะปลูก

· สภาพเศรษฐกิจ สังคม และ การตลาด

ที่ผ่านมาการพัฒนาที่สำเร็จมักเป็นรายเดี่ยว เมื่อรวมกลุ่มกันมักตายหมด เศรษฐกิจพอเพียงคือให้เรารวมกลุ่มกันกับคนอื่นที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง ผลัดกันซื้อผลัดกันขาย โยกย้ายถ่ายโอนระหว่างกันในชุมชน (ตลาดในชุมชน)

การพัฒนาได้อย่างสมดุลและยั่งยืน ประกอบด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม

การวิเคราะห์ต้นทุนการผลิต การต้นทุนสินค้าเกษตรมีข้อเสียเปรียบการคิดต้นทุนสินค้าอุตสาหกรรมที่มีการคำนวณหมดทุกอย่าง ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้มีการใช้ทรัพยากรในการผลิตสินค้าเกษตรมากกว่าที่ควรเป็น ประเทศที่ผลิตสินค้าเกษตรควรร่วมมือกันกำหนดกฎเกณฑ์ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรที่แท้จริง

การวิเคราะห์ต้นทุน คือ การวิเคราะห์ผลจากการทำการเกษตร

· จะผลิตอะไร

· จะผลิตอย่างไร

· จะผลิตเพื่อใคร

· จะผลิตเท่าไร

· จะผลิตเมื่อไร

มีระบบจัดการผลิตอย่างไรที่จะทำให้ผลผลิตสูงขึ้น ต้นทุนลดลง การผลิตมีกำไร สุขภาพแข็งแรง ครอบครัวมีความสงบสุข จะทำเกษตรอะไรเกษตรกรต้องเข้าใจเข้าถึงสิ่งนั้นอย่างแท้จริง

ต้องมีการทำบัญชีว่าใช้อะไร เท่าใด ราคาเท่าใด ซื้อหรือของตนเอง ค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสดและไม่เป็นเงินสดเท่าใด ต้องจดบันทึก

โครงสร้างต้นทุน

1. ต้นทุนที่เป็นเงินสด เช่น ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการซื้อวัสดุการเกษตรต่างๆ คือ ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ยเคมี ค่ายาปราบวัชพืช ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าซ่อมแซมเครื่องจักรกลการเกษตร ค่าจ้างแรงงานคน แรงงานสัตว์ ค่าเลี้ยงดูแรงงาน ค่าเช่าที่ดิน ค่าภาษีที่ดิน

2. ต้นทุนที่ไม่เป็นเงินสด คือ การนำสิ่งที่ตนมีอยู่มาทำเกษตร เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยคอก รถไถนา แรงงานในครัวเรือน ที่ดินของตน ซึ่งคือค่าเสียโอกาส ซึ่งให้คิดราคาโดย ให้เท่ากับที่ไปซื้อหรือไปจ้างมา ค่าเสียโอกาสของเงินทุน คำนวณจากผลรวมของต้นทุนผันแปรทั้งที่เป็นเงินสดและไม่เป็นเงินสด รวมกันได้เท่าใด ให้คิดว่าถ้าเอาไปฝากธนาคาร จะเสียดอกเบี้ยเท่าใด เช่น

ระยะเวลาการปลูกข้าว 8 เดือน

ดอกเบี้ยเงิน = ต้น (ผลรวมของรายจ่ายผันแปรทั้งหมด x อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ x ระยะเวลา

100

3. ต้นทุนผันแปร เป็นค่าใช้จ่ายทั้งที่เป็นเงินสดและไม่เป็นเงินสดที่แปรไปตามปริมาณการผลิต (ผลิตมากเสียมาก ผลิตน้อยเสียน้อย ไม่ผลิตไม่เสีย) เช่น ค่าแรงงาน ค่าวัสดุ ค่าซ่อมแซม ค่าเสียโอกาสเงินทุน

4. ตุ้นทุนคงที่ เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่แปรหรือเปลี่ยนแปลงไปตามปริมาณการผลิต แม้ว่าจะไม่ผลิตก็ต้องเสียค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเสื่อมราคาของอุปกรณ์การเกษตรที่มีอายุการใช้งานเกิน 1 ปี เช่น รถไถนาเดินตาม เครื่องสูบน้ำ ท่อส่งน้ำ รถพ่วง พ่อแม่พันธุ์สัตว์ ต้นพันธุ์ไม้ผล ไม่ยืนต้น

ค่าเสื่อมราคา = มูลค่าซื้อมูลค่าซาก (ที่จะขายได้)

อายุการใช้งาน

ค่าเสื่อมราคารถไถเดินตาม = 50,000 – 10,000 = 4,000

10

ค่าเสื่อมรถไถเดินตาม เท่ากับ 4,000ต่อไป ถ้า 1 ปีไถ 10 ตกค่าเสื่อต่อไร่ละ 400 ถ้าค่าจ้างไร่ละ 200 เกษตรกรไม่ควรซื้อรถไถ หรือ รถไถนา 1 ปี ทำนาเพียง 50 ชั่วโมง จากการทำงานทั้งหมดทั้งปีละ 500 ชั่วโมง ถ้าเกษตรกรเปิดบัญชีเงินฝากสำหรับค่าเสื่อมและฝากทุกปี เมื่อขายอุปกรณ์เก่าออกไปก็จะมีเงินออมพร้อมที่จะซื้อใหม่ได้

ค่าใช้ที่ดิน ถ้าต้องเช่าที่ดินรายจ่ายจะเป็นค่าใช้จ่ายเงินสด แต่ถ้าที่ดินของตนเองก็ต้องคิดค่าเช่าให้อย่างน้อยเท่ากับที่เราไปเช่าเขา และที่ดินผืนนี้ในรอบ 1 ปี ใช้ประโยชน์อะไรบ้างจะต้องมาแบ่งค่าเช่าที่ดินออกไป

อ.วิเชียร แสงโชติ จากสถาบันวิจัย มข.

ทิศทางการพัฒนาจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต

การพัฒนาต้องมีเป้าหมายจึงจะทราบทิศทาง

แต่เดิมเป้าหมายของการพัฒนาประเทศไทยคือ การพัฒนาเพื่อให้เกิดความเจริญ ทันสมัย และ ร่ำรวย แนวคิดนี้ได้กระจายเข้าสู่ชุมชนด้วย โดยเฉพาะความร่ำรวย ความเจริญ ไม่ได้มองมิติของความคิด จิตใจ และการมีคุณธรรมความทันสมัยที่ไม่มีการควบคุม ความร่ำรวยที่เอาเงินเป็นตัวตั้ง

โครงสร้างทางระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยในปัจจุบันเป็นจุดสกัดในการพัฒนาที่ทำให้การพัฒนาประเทศไปไม่ได้ไกลไปกว่านี้ รัฐ ครม. เป็นผู้กำกับนโยบาย กฎหมาย และ งบประมาณ ซึ่งที่เป็นอยู่นี้ไม่เหมาะกับคนจน

คำถามว่าชาวบ้านเป็นเจ้าของงานพัฒนาหรือยัง หรือ งานพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเขาหรือยัง

แนวคิดการพัฒนาเพื่อการพึ่งพาตนเองควรจะเป็นเป้าหมายของงานพัฒนา ชาวบ้านรวมกลุ่มกันเพื่อรอรับการช่วยเหลือ (ใช้เงินเป็นเครื่องมือ) ไม่ได้รวมกลุ่มกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเอง ทำอย่างไรจึงจะให้แนวคิดเรื่องการรวมกลุ่มของชาวบ้านเข้มแข็งได้ การรวมกลุ่มที่ผ่านๆ มาในอดีตทำได้ไม่นานก็แตกคอกัน ทะเลาะกัน แล้วก็แยกกันไป ซึ่งต้องสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในกลุ่ม

ปัจจัยหลายอย่างส่งผลกระทบซึ่งกันและกันทั้งปัจจัยด้านการเมือง เศรษฐกิจ สุขภาพ ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ซึ่งเราจะทำจุดใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความถนัดของเรา และทำการพัฒนาร่วมกันไปทั้งระบบ

โดยใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือ ซึ่งมันคือกระบวนการให้การศึกษาแก่เขา ไม่เหมือนกับการส่งเสริม ซึ่งเราคิดว่ามันดี หรือ มันเป็นการสร้างแรงจูงใจในการทำการพัฒนาให้กับเขา แต่สุดท้ายแล้วมันไม่ใช่ การวิจัยคือให้เขาเป็นผู้ทำวิจัย เป็นตัวช่วยในอันดับแรก เพื่อทราบว่าในชุมชนของเขามีทรัพยากรอะไรออยู่บ้างมากน้อยเพียงใด เป็นการวิจัยทางเลือก เป็นการกระตุ้นให้ชุมชนคิดและกำหนดแนวทางการพัฒนา

สำหรับแนวทางการพัฒนา ควรหาทางเลือกที่หลีกเลี่ยงการซ้ำซ้อนกับโครงสร้างใหญ่ (ผลผลิตเพื่อขายกับพ่อค้ารายใหญ่) สำหรับคนอีสานแร้ว วัฒนธรรมของคนอีสานคือผู้ผลิต ไม่ใช่พ่อค้า (ขายไม่เป็น อยากอาย) ซึ่งควรจะมีครบคือ ระบบการผลิต ระบบการขาย ระบบการจัดการ ไม่ใช่สร้างให้เขาทำเป็น แต่สินค้าไม่มีที่ไป บริหารจัดการไม่คุ้มทุน

การพัฒนาแบบสำเร็จรูปต่อไปในอนาคตจะไปได้ยาก เนื่องจากมันไม่ได้เป็นชีวิตของเขา เราควรน่าที่จะเน้นเรื่องการให้การศึกษาแก่เขา ซึ่งก็คือกระบวนการพัฒนาแบบใหม่ ไม่ต้องทำเยอะ หมายถึงเหมากันทั้งชุมชน แต่ให้เริ่มจาก 2-3 คนทำแล้วขยายออกไป การทำร่วมกัน สร้างความรู้ร่วมกันกับเขา ไม่ใช่การบริโภควิทยากร

การพัฒนาในปัจจุบัน แบ่งได้ 3 อย่าง

1. การพัฒนาตามกระแส

2. การพัฒนาต้านกระแส

3. การพัฒนาทวนกระแส มีเป้าหมาย มีเสรีภาพและเป็นประชาธิปไตย วิเคราะห์ตนเอง ต้องการอะไร มีอะไร

โครงการพัฒนาทั้งหลายที่ผ่านมาขาดการวิเคราะห์ตนเองอย่างจริงจัง

หลังจากนั้นให้ศึกษา หาทางเลือก หาความเป็นไปได้ อย่าเพิ่งส่งเสริมให้เกิดโครงการหากยังไม่ได้ทำการศึกษารู้ว่ามีทางเลือกอะไรบ้าง และมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

**** บันทึกโดย อมลณัฐ สิทธิสินทรัพย์ (ป๊อบ PQ) ****

ดูภาพบรรยากาศของงานได้ใน link นี้ครับ

http://homehug.blogspot.com/2010/02/22010_17.html

No comments: